การขอสินเชื่อเพื่อสร้างห้องเย็น

ขอสินเชื่อเพื่อซื้อห้องเย็นสำเร็จรูปเตรียมตัวอย่างไรให้กู้ได้ผ่านฉลุย

     การทำธุรกิจนั้นมีปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่จะทำให้ธุรกิจก่อร่างสร้างตัวและดำเนินไปได้ สิ่งสำคัญประการแรกเลยก็คือ “เงินทุน” หลายคนมีความประสงค์ที่จะทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและสินค้าบริโภค แม้เงินทุนที่มีจะเพียงพอต่อการลงทุนซื้อวัตถุดิบมาจำหน่าย แต่ก็อาจจะไม่พอสำหรับการซื้อห้องเย็นสำเร็จรูปมาไว้สำหรับการแช่จัดเก็บสินค้า ซึ่งต้องบอกว่า ณ ปัจจุบันนี้ห้องเย็นเป็นสิ่งสำคัญต่อการประกอบธุรกิจอาหารอย่างมากทีเดียว แต่ทว่าห้องเย็นสำเร็จรูปราคาก็ถือว่าสูง การลงทุนในส่วนนี้จึงจำเป็นต้องใช้เงินก้อนที่มากพอสมควร ทางออกที่ดีสำหรับในเรื่องนี้ก็คือ การขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อมาเป็นเงินทุนเพิ่มเติม

    และมีหลายคนไม่เคยขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจจากธนาคาร เมื่อไม่มีประสบการณ์จึงไม่มั่นใจว่าตนเองจะได้รับการอนุมัติเงินลงทุนในส่วนนี้ ดังนั้นในครั้งนี้เราจึงมีคำแนะนำดี ๆ ในการเตรียมตัวขอกู้สินเชื่อธนาคารเพื่อทำห้องเย็นมาฝากกัน ผู้กู้ต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้กู้ได้ผ่านฉลุยไปดูกันเลย

  1. เริ่มต้นสร้างพฤติกรรมชำระหนี้ที่ดีตั้งแต่วันนี้

    ธนาคารจะต้องตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของผู้ประกอบการ เพื่อให้รู้ว่าที่ผ่านมาคุณมีพฤติกรรมการชำระหนี้เป็นอย่างไร เคยติดค้างยอดชำระหนี้อะไรบ้างหรือไม่ เป็นลูกค้าธนาคารที่ดีหรือเปล่า เรียกง่ายๆ ว่าธนาคารจะทำการตรวจสอบ “เครดิตบูโร” ของผู้ประกอบการนั่นเอง ดังนั้นก่อนหน้าที่คุณจะไปยื่นเรื่องขอสินเชื่อเพื่อมาซื้อห้องเย็นสำเร็จรูปก็ควรจะต้องปรับและสร้างพฤติกรรมการผ่อนชำระหนี้ที่ดี เพื่อทำให้ธนาคารรู้จักคุณดีขึ้นและมั่นใจที่จะอนุมัติสินเชื่อให้กับคุณ

  1. ต้องชัดเจนในวัตถุประสงค์ที่จะกู้

    ก่อนที่จะเดินหน้าเข้าไปขอสินเชื่อกับธนาคาร คุณจะต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ในการกู้ครั้งนี้ให้ชัดเจนก่อนว่า จะกู้เพื่อนำเงินไปลงทุนในเรื่องอะไรของธุรกิจ อย่างจะขอกู้เพื่อไปทำห้องเย็นสำหรับเก็บสินค้าในธุรกิจ หรือกู้ไปสำหรับเป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจ แผนธุรกิจคุณเป็นอย่างไร ต้องการเงินเท่าไหร่ ต้องใช้หลักประกันหรือไม่ เพราะการกู้แบบมีหลักประกันและแบบไม่มีหลักประกันดอกเบี้ยจะแตกต่างกัน ถ้าวัตถุประสงค์ชัดเจนก็จะทำให้ธนาคารสามารถประเมินได้ว่าแผนการลงทุนในเงินกู้ของคุณมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ หากอนุมัติไปแล้วคุณจะมีความสามารถชำระหนี้คืนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อนั่นเอง

  1. เตรียมเอกสารที่ต้องยื่นในการกู้ให้พร้อม

    นี่ก็นับเป็นอีกหนึ่งประการสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ติดปัญหาเรื่องเอกสาร ทำให้ทางธนาคารไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ ดังนั้นเรื่องเอกสารสำคัญจึงเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมไว้ล่วงหน้า โดยเอกสารที่จะใช้หลัก ๆ ในการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจมีดังนี้

  • เอกสารบัญชีของธุรกิจ สิ่งที่ทางธนาคารจะพิจารณาก็คือการเดินบัญชีของธุรกิจ โดยธนาคารจะดูค่าเฉลี่ยย้อนหลังไป 6 เดือน หรือ 1 ปี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอายุของธุรกิจ
  • เอกสารแสดงรายละเอียดของบุคคลพื้นฐาน อย่างทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน
  • เอกสารที่มาของรายได้ ถ้าเป็นธุรกิจรายย่อยเป็นเจ้าของเอง ก็ให้เตรียมบิลซื้อ บิลขาย ใบเสร็จ ใบอนุญาตการประกอบกิจการต่าง ๆ กรณีถ้าเป็นนิติบุคคลก็จะต้องมีเอกสารเพิ่มเติมอย่างเอกสารประเภทหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท หนังสือแสดงงบการเงิน เอกสารแสดงการเสียภาษี ภ.พ.20 หรือ ภ.พ.30
  1. มองเทรนด์และทำความเข้าใจแนวโน้มของธุรกิจ

     ก่อนที่จะเดินหน้าเข้าไปขอสินเชื่อกับธนาคาร คุณควรจะต้องศึกษาทำความเข้าใจธุรกิจตนเองให้ถ่องแท้ชัดเจน ต้องมองเทรนด์ มองตลาด มองโอกาสทิศทางความเป็นไปได้ในอนาคต ลองดูก่อนว่าสินค้าบริโภคที่คุณจะนำมาจำหน่ายนั้นเป็นแค่สินค้าที่อยู่ในกระแส หรือเป็นอาหารพื้นฐานและเป็นวัตถุดิบที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกาลเวลา อย่างถ้าคุณจะทำธุรกิจไอศกรีม แน่นอนว่าห้องเย็นสำเร็จรูปสำคัญมาก แต่ทว่าไอศกรีมที่คุณจะนำมาจำหน่ายนั้นทั้งรสชาติหรือสไตล์ของไอศกรีมอาจจะเป็นกระแสเพียงระยะเวลาไม่กี่ปี ก็ต้องพิจารณาให้ดีว่าคุณมีแผนสำรองในธุรกิจสำหรับเรื่องนี้หรือไม่ เพราะประเด็นเหล่านี้มีผลต่อธนาคารในการประเมินธุรกิจเพื่ออนุมัติสินเชื่อของคุณ

    เหล่านี้เป็นแนวทางในการเตรียมตัวขอสินเชื่อธุรกิจกับธนาคาร หากคุณมีความประสงค์จะขอสินเชื่อเพื่อซื้อห้องเย็นสำเร็จรูป ก็ลองนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปรับใช้กันดู หลังจากยื่นเอกสารการขอสินเชื่อครบ โดยปกติแล้วธนาคารก็จะทำการประเมินเพื่ออนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน ส่วนระยะเวลาในการผ่อนชำระกรณีเป็นธุรกิจ SME ที่มีหลักประกันในการขอสินเชื่อ ระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุดจะอยู่ที่ 10 ปี ในกรณีที่ขอกู้เพื่อสร้างหรือซื้อระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุดจะอยู่ที่ 30 ปี ก็หวังว่าคำแนะนำที่เรานำมาฝากกันในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้ประกอบการบ้างไม่มากก็น้อย