พื้นสำหรับห้องเย็น

พื้นห้องเย็น เลือกแบบไหนถึงจะตอบโจทย์ใช้งานมากที่สุด

    การติดตั้งห้องเย็นหรือ Cold Room เพื่อแช่เก็บสินค้าสำหรับธุรกิจนั้น มีหลายปัจจัยมากที่จะต้องคำนึงถึง และส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างมากเลยก็คือ เรื่องของพื้น ซึ่งมีให้เลือกมากกว่าหนึ่งแบบ หลายคนจึงไม่รู้ว่าตนเองควรจะเลือกแบบไหน และพื้นแบบไหนที่จะตอบโจทย์การใช้งานมากที่สุด หรือเหมาะสมที่สุดสำหรับธุรกิจของตนเอง ครั้งนี้เราจึงมีคำแนะนำในเรื่องนี้มาฝากกัน

  รู้จักรูปแบบพื้นของห้องเย็น

    พื้นที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้ทำห้องแช่เย็นนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทนั่นคือ

  1. พื้นสำเร็จรูป

    พื้นสำเร็จรูปก็คือพื้นที่จะนำมาปูทับพื้นเดิมด้านบน หรือติดตั้งเป็นพื้นใหม่ขึ้นมา วัสดุที่นิยมใช้ก็คือพื้นอะลูมิเนียม พื้นประเภทนี้จะเหมาะสำหรับการปูเป็นพื้นในห้องเย็นสำเร็จรูป เนื่องจากห้องในลักษณะนี้จะไม่สามารถเทปูนทำพื้นได้

  ความน่าสนใจของพื้นสำเร็จรูป

  • ลักษณะของพื้นมีความสวยงามดูดี มีความปลอดภัยในการใช้งาน สามารถที่จะเสริมความปลอดภัยด้วยแผ่นกันลื่นได้ด้วย
  • ติดตั้งง่ายทำได้เร็ว สามารถที่ถอดย้ายหรือรื้อออกได้ง่าย หากต้องการที่จะมีการปรับเปลี่ยนซ่อมแซมพื้นในอนาคต การรื้อเปลี่ยนพื้นประเภทนี้จะไม่มีความยุ่งยากเลย พื้นที่รื้อออกไปหากไม่บุบหรือสึกหรอไป ในอนาคตหากต้องการจะนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำมาดัดแปลงนำมาใช้ในเรื่องอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ด้วย

  ข้อจำกัด

  • พื้นรูปแบบนี้จะเหมาะสำหรับการใช้กับห้องเย็นขนาดเล็กที่มีสินค้าน้ำหนักไม่เกิน 500 กิโลกรัม/ตารางเมตรโดยประมาณเท่านั้น จะไม่เหมาะกับการใช้งานในการแช่เก็บสินค้าหรือการเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีน้ำหนักหรือมีปริมาณที่มาก
  1. พื้นปูน

     เป็นพื้นปูนคอนกรีตที่จะมีการผสมพิเศษ เพื่อทำให้พื้นมีคุณสมบัติเป็นฉนวนเก็บความเย็นเพื่อป้องกันความเย็นรั่วซึม โดยจะมีการสร้างห้องและทำพื้นด้วยแผ่นฉนวนสำเร็จรูปมาตรฐาน (แผ่น PU ) โดยสามารถที่จะออกแบบความหนาของพื้นได้ตามต้องการ

  ความน่าสนใจของพื้นปูน

  • สามารถที่จะออกแบบความหนาของพื้นได้ตามต้องการ หากต้องการพื้นที่หนาก็ให้เลือกใช้แผ่น PU ที่หนาขึ้น
  • สามารถเสริมความแข็งแกร่งให้พื้นปูนคอนกรีตเพิ่มได้ โดยการผสมวัสดุประเภท Floor Hardener เข้าไปในการปูพื้นเพื่อให้พื้นสามารถรับน้ำหนักได้ดีมากขึ้น
  • พื้นสามารถรับน้ำหนักได้ดี จึงเหมาะสมกับการทำห้องเย็นขนาดใหญ่ที่ต้องบรรจุและเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นตัน ๆ ได้

  ข้อจำกัด

  • การคำนวณระดับความหนาของพื้นต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ เพราะถ้าทำโดยขาดความเข้าใจเสริมพื้นห้องเย็นหนาเกินไปจนสูงกว่าระดับพื้นปกติด้านนอกห้อง จะทำให้เวลาขนย้ายสินค้าโดยใช้รถเข็นนั้นทำได้ไม่สะดวกนัก
  • ต้องระมัดระวังการทำความสะอาดพื้นด้านนอกห้อง หากว่ามีการทำพื้นเท่ากันทั้งด้านนอกด้านใน เวลาทำความสะอาดใช้น้ำล้างพื้นภายนอก จะมีโอกาสที่น้ำจากด้านนอกไหลเข้าสู่พื้นด้านในของห้องเย็นด้วย

  วิธีแก้ไขข้อจำกัดของพื้นห้องเย็นที่เป็นพื้นปูน

    จากที่กล่าวมาดูเหมือนว่าพื้น Cold Room ที่เป็นพื้นปูนนั้น ถึงจะมีความน่าสนใจและตอบโจทย์การใช้งานในระยะยาวได้ดี แต่ก็ดูเหมือนจะมีข้อจำกัดที่จัดการได้ยากกว่าด้วย ดังนั้นเราจึงขอเสนอวิธีแก้ไขข้อจำกัดสำหรับคนที่ต้องการหรือมีความจำเป็นต้องใช้พื้น Cold Room ที่เป็นพื้นปูนดังนี้

  1. วิธีแก้ไขเรื่องระดับความหนาพื้น

    ต้องมีการเตรียมพื้นที่ก่อนที่จะปูพื้นห้องเย็น การเตรียมพื้นที่ก็คือ การทำพื้นใหม่บริเวณที่จะทำห้องเย็น โดยลดระดับพื้นลงไปจากเดิม อาจจะ 20-25 เซนติเมตรโดยประมาณ ขึ้นอยู่กับระดับความหนาของพื้นห้องที่ต้องการจะทำเพิ่มขึ้นไป ถ้าทำแบบนี้แล้ว เวลาทำห้องก็จะได้ระดับพื้นด้านในห้องและด้านนอกห้องในระดับที่เท่ากัน

  1. วิธีแก้ไขเรื่องน้ำไหลเข้าเวลาทำความสะอาด
  • ทำรางสำหรับรับน้ำไว้ที่ส่วนหน้าประตูห้อง
  • ทำพื้นห้องให้สูงขึ้นจากระดับพื้นปกติด้านนอกประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วเสริมด้วยพื้นลาดเอียงบริเวณหน้าห้อง การทำแบบนี้นอกจากจะช่วยป้องกันน้ำไหลเข้าไปในห้องเย็นแล้ว ยังไม่ทำให้การใช้รถเข็นสำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอีกด้วย

    จะเห็นได้ว่ารูปแบบพื้นทั้งสองแบบต่างก็มีความน่าสนใจและข้อจำกัดในตัวเองทั้งคู่ ดังนั้นการจะเลือกใช้พื้นแบบไหนก็จะต้องดูความเหมาะสมที่หน้างานบริเวณจุดที่จะวางห้องเย็นอีกที เพราะบางคนอาจจะวางแผนไว้เลือกที่จะทำเป็นพื้นปูนคอนกรีต แต่ลักษณะพื้นที่โดยรวม ๆ อาจจะไม่เหมาะสม ก็ต้องแก้โดยการปูเป็นพื้นสำเร็จรูปแทน ตรงนี้จึงอาจกำหนดตายตัวไม่ได้เสมอไป ต้องดูความเหมาะสมกันเป็นกรณีไปนั่นเอง